Blogs & Articles

ใช้ Social listening tool + Google Trends ขุดกระแสหม้อทอดไร้น้ำมันดังเพราะใคร

social listening tools

วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าในช่วงโควิด19 ที่ผ่านมาใครกันนะที่ทำให้หม้อทอดไร้น้ำมันเป็นไอเท็มที่ต้องมีทุกบ้าน ด้วยการใช้ Google Trends + Social listening tool เพื่อขุดหาต้นตอของกระแสนี้ไปพร้อมกัน บอกไว้ก่อนนะครับว่าคอนเทนต์วันนี้จะยาวมาก ถ้าพร้อมแล้วไปลุยอ่านต่อกันได้เลยครับ


ในหนังสือเล่มที่สอง Data-Driven Marketing การตลาดแบบฉลาดใช้ดาต้า ที่พูดถึงเรื่องการใช้เครื่องมืออย่าง Google Trends และ Social listening ในการเข้าถึง Data แบบง่าย ๆ ที่เหมาะสำหรับนักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจ SME หรือใครก็ตามที่สนใจเรื่อง Data แต่ไม่มีทักษะเรื่องการเขียนโปรแกรมแบบผม


ในตอนนี้ผมจะไม่ได้มาเล่าว่าเครื่องมือทั้งสองใช้งานอย่างไร เพราะคุณสามารถหาอ่านได้ในหนังสือเล่มนั้น(จริงๆ อยากให้คุณกลับไปอ่านซ้ำหรือซื้อเพิ่มแหละ ^^) แต่จะมาเล่าถึงเคสที่ผมใช้ทั้งสองเครื่องมือผสมผสานกันในช่วงล็อคดาวน์ที่ใครๆ ก็ต้องอยู่บ้านเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการตามหาว่าใครกันหนาที่ทำให้กระแสหม้อทอดไร้น้ำมันมาแรงสุดๆ ในบ้านเราจนเป็นหม้อที่ทุกบ้านต้องมี อย่างน้อยก็บ้านผมคนนึงนี่แหละครับ


หม้อทอดไร้น้ำมันวางขายมานานแต่มาดังเพราะล็อคดาวน์

ในช่วงเดือนปลายมีนาคมไปจนถึงเมษายน เป็นช่วงที่คนไทยทุกคนต้องล็อคดาวน์หรืออยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย หรืออย่างน้อยก็ในความทรงจำผมคนนึงนี่แหละครับ


ตอนนั้นผมรู้สึกเครียดไม่น้อยแถมยังกดดันอีกพอสมควร เพราะเป็นช่วงที่ผมเพิ่งออกจากงานประจำมาทำอะไรของตัวเอง นั่นหมายความว่าในช่วงล็อคดาวน์เพราะโควิด19 นั้นเป็นอะไรที่ทำให้ผมมีเวลาว่างมาก ซึ่งด้วยความที่ว่างมากๆ ก็เลยทำให้ผมได้มีเวลาทำอะไรที่อยากทำมากขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือการฝึกใช้เครื่องมือ Social listening ให้ดียิ่งขึ้นด้วย


เมื่อย้อนนึกไปในช่วงเวลานั้นที่ผมต้องล็อคดาวน์อยู่บ้านแหละหม้อทอดไร้น้ำมันกำลังดังจนวันนึงก็มีคนในบ้านสั่งมาส่งที่หน้าบ้าน ถึงช่วงเวลาที่ผมจะต้องกินเมนูต่างๆ จากหม้อทอดไร้น้ำมันเป็นครั้งแรกในชีวิต และด้วยกระแสของหม้อทอดไร้น้ำมันที่เปิดเฟซบุ๊คมาก็มีแต่คนโพสถึงเจ้าหม้อทอดนี้ มีการรีวิวเมนูต่างๆ ที่สามารถทำด้วยหม้อทอดไร้น้ำมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งโดยเฉพาะเมนูที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทอดด้วยหม้อทอดไร้น้ำมันได้เช่าหมูกรอบ เอาเป็นว่าทุกคนที่มีหม้อทอดไร้น้ำมันล้วนอยากจะลองทอดหมูกรอบด้วยหม้อของตัวเองเป็นเมนูแรกก็แทบจะว่าได้ครับ


ดังนั้นด้วยความดังจนน่าหมั่นใส้(แล้วผมจะไปหมั่นใส้เจ้าหม้อทำไม!) จึงทำให้ผมเกิดนึกสนุกว่าไหนขอลองดูหน่อยซิว่าตกลงเจ้าหม้อทอดไร้น้ำมันนี้มันดังเพราะใคร เหมือนกับตอนที่เกิดกระแสแฮชแท็ก #Saveปีโป้ม่วง ที่อยู่ดีๆ ผมก็อยากรู้ว่าดังเพราะใคร ใครทำให้ได้ ไปจนถึงดังตั้งแต่เมื่อไหร่ ดังนั้นในเคสการค้นหาต้นกำเนิดเทรนด์หม้อทอดไร้น้ำมันนี้ผมก็ใช้วิธีคิดแบบ Data Thinking แบบเดียวกัน นั่นก็คือเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ถ้าเราอยากรู้ว่าหม้อทอดไร้น้ำมันดังเพราะใคร ดังได้อย่างไร และดังเมื่อไหร่ แล้วจากเครื่องมือที่มีอย่าง Google Trends และ Social listening tool ที่เป็นตัวตั้งต้น ก็ทำให้ผมได้พอรู้ว่าตกลงใครกันนะที่ทำให้หม้อทอดไร้น้ำมันดังครับ


ผมเริ่มคิดว่าถ้าเราใช้ Social listening tool เราจะรู้ว่าหม้อทอดไร้น้ำมันถูกพูดถึงมากๆ เมื่อไหร่ แต่การพูดถึงมากๆ ก็ไม่ได้หมายถึงคนจะซื้อตามที่พูดสักหน่อย บางทีอาจจะแค่โพสเห็นดีเห็นงามด้วย หรืออาจจะแค่ขอเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกับกระแสเจ้าหม้อทอดไร้น้ำมันนี้ แถมดีไม่ดีบางคนอาจจะโพสที่มีคำว่าหม้อทอดไร้น้ำมันเยอะๆ ด้วยตัวคนเดียวด้วยความพยายามต้องการปั่นกระแส ดังนั้นผมเลยคิดว่า Social listening ไม่น่าจะช่วยในการตั้งต้นหาคำตอบของคำถามนี้ได้ ก็เลยนำมาสู่การตั้งคำถามถัดไปว่าถ้าคนเริ่มอยากได้ คนน่าจะมีพฤติกรรมอย่างไรครับ


ผู้บริโภคยุคใหม่อยากได้อะไรเสิร์จเลยไม่รอ

อย่างที่เรารู้กันนะครับว่าผู้บริโภคยุคนี้ที่เรียกว่า Digital Consumer เวลาเห็นอะไรแล้วอยากได้มักเสิร์จหาข้อมูลต่อเลยโดยไม่รอ แล้วหลายคนก็ไม่ใช่แคเสิร์จหาข้อมูลแต่ยังหาไปถึงโปรโมชั่นที่ดีที่สุดในตอนนั้น นั่นหมายความว่าจากที่เคยแค่สนใจเบาๆ แต่พอเจอโปรแรงๆ ปังๆ ก็พร้อมจะเปย์เงินออกไปเพื่อให้ร้านค้าส่งกลับมาในทันที


ถ้าคิดว่าไม่จริงก็ลองคิดถึงตัวเองก็ได้ครับ ในช่วงล็อคดาวน์เป็นที่รู้กันว่าเราออกจากบ้านไปไหนไม่สะดวก ออกไปก็ได้แค่ซื้อข้าวปลาอาหารมากิน หรือดีไม่ดีก็เอาแต่สั่ง Delivery มาส่งบ้าน ดังนั้นถ้าจะบอกว่าในช่วงนั้นคนอาจจะแค่เสิร์จหาข้อมูลเพื่อไปดูของจริงที่หน้าร้านนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะห้างสรรพสินค้าทั้งหมดถูกปิดไม่ให้ขายข้าวของใดๆ นอกจากสินค้าประเภทอาหารการกินเท่านั้นเลยครับ


เคยมีคนไปซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งเพื่อซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน แต่เขาก็พบว่าหม้อหุงข้าวที่บ้านพังต้องการหม้อใบใหม่ ทางห้างก็ปฏิเสธบอกว่าขายไม่ได้แม้จะมีสินค้าวางอยู่เพราะกฏระเบียบข้อบังคับตอนนั้นบอกว่าให้ขายได้แต่สินค้าที่เกี่ยวกับของกินของใช้เท่านั้นจริงๆ


นั่นหมายความว่าต่อให้คนไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหม้อทอดไร้น้ำมันวางขายก็ไม่สามารถซื้อกลับบ้านได้ และนั่นก็เท่ากับว่าคนไทยในวันนั้นเหลือแค่ช่องทางการซื้อออนไลน์เท่าไหร่ถ้าอยากได้หม้อทอดไร้น้ำมันไปใช้ที่บ้านครับ


จากจุดนั้นทำให้ผมตั้งสมมติฐานว่า “ถ้าคนอยากได้คนสมัยนี้ต้องเสิร์จหาเลย ดังนั้นวันที่อยู่ดีๆ มีการค้นหาเกี่ยวกับหม้อทอดไร้น้ำมันบน Google มากผิดปกติ ก็น่าจะเป็นวันนั้นแหละที่มีใครสักคนทำให้หม้อทอดไร้น้ำมันดังขึ้นมา!”


จากจุดนั้นผมเลยรู้ว่าผมต้องใช้ Google Trends ในการค้นหาว่าวันไหนนะที่อยู่ดีๆ เกิดกระแสเทรนด์การค้นหาหม้อทอดไร้น้ำมันขึ้นมา แล้วผมก็ลองเปิดไล่ดูไปเรื่อยๆ ตามรูปนี้ มาลองดูไปพร้อมกันครับ


ผมเริ่มจากการลองพิมพ์คำว่า “หม้อทอด” เข้าไปก่อนแล้วดูว่าระบบของ Google Trends จะแนะนำ keyword คำว่าอะไรออกมาบ้าง เพราะอย่างที่บอกนะครับว่าระบบ AI ของ Google นั้นจะคอยจัดหมวดหมู่ข้อมูลคำค้นหาต่างๆ ของเราออกมาให้อัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อทำให้เราสามารถค้นหาแล้วเจอคำตอบที่ต้องการได้เร็วยิ่งขึ้น


ดังนั้นเมื่อผมใส่คำว่า “หม้อทอด” เข้าไปแล้วเจ้าระบบแนะนำของ Google Trends จึงมีหัวข้อให้ผมเลือกดังนี้


  • หม้อทอด ที่เป็น Search term หรือข้อความค้นหา
  • Air fryer ที่เป็น Topic หรือหัวข้อ
  • Deep flyer ที่เป็น Topic หรือหัวข้อ
  • Fryer ที่เป็น Topic หรือหัวข้อ


เมื่อเจอแบบนี้ผมแนะนำว่าไม่ต้องเลือกดูแค่อันใดอันหนึ่ง แต่ดูทุกอันมันไปเลยแล้วค่อยดู Data ที่เป็นเส้นกราฟใน Google Trends อีกทีว่าตกลงแล้วแต่ละหัวข้อที่ Google Trends แนะนำมาบริบทของหัวข้อนั้นที่คนค้นหาคืออะไร


แต่ผมก็ไม่ลืมที่จะใส่คำว่า “หม้อทอดไร้น้ำมัน” เต็มๆ เข้าไปด้วยครับ เพื่อทำให้ผมได้เห็นภาพรวมพฤติกรรมการเสิร์จของคนไทยในช่วงตั้งแต่ต้นปีเดือนมกราคม ไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 แบบเต็มๆ จริงๆ ผมสามารถเลือกดูข้อมูลการค้นหาแค่สิ้นสุดเดือนเมษายนก็ได้ แต่เพื่อความชัวร์และสบายใจผมขอเลือกดูเต็มๆ ไว้ก่อนแล้วค่อยมาตัดออกในตอนหลังจะดีกว่าครับ


จากกราฟที่แสดงผล Search data ของคนไทยในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2563 ไปจนถึงช่วงปลดล็อคดาวน์อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จะเห็นได้เลยว่าก่อนหน้าโควิดมาคนไทยสนใจเสิร์จหาหม้อทอดไร้น้ำมันน้อยมาก แต่พอเข้าช่วงเดือนเมษายนการค้นหาเรื่องหม้อทอดไร้น้ำมันก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แล้วก็ค่อยๆ ลดน้อยลงไปตามระยะเวลาที่เข้าสู่กลางค่อนปลายเดือนพฤษภาคม หรือเป็นช่วงที่เริ่มล็อคดาวน์ให้ออกจากบ้านมาทำงานได้แล้วนั่นเอง


แต่ทีนี้ผมอยากให้คุณลองสังเกตกราฟนี้ไปพร้อมกัน คุณคิดว่าช่วงไหที่คนน่าจะสนใจหม้อทอดไร้น้ำมันขึ้นมา?


จากที่ผมใช้เคสนี้ในการทำ Workshop สอนเรื่อง Data Thinking ให้กับหลายๆ องค์กร พบว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่กราฟการค้นหาพุ่งสูงที่สุด นั่นก็คือวันที่ 4 พฤษภาคม 2020 ตามภาพครับ


แต่ถ้าผมอยากให้คุณลองคิดย้อนดูดีๆ อีกครั้งถึงคำถามว่า ช่วงใดน่าจะเป็นช่วงที่กระแสหม้อทอดไร้น้ำมันกำลังมา ไม่ใช่ว่าช่วงใดที่คนสนใจหม้อทอดไร้น้ำมันมากที่สุด!


ดังนั้นถ้ากลับไปดูภาพก่อนหน้าจะเห็นว่ามันมีช่วงเวลาสั้นๆ ที่อยู่ดีๆ การค้นหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับหม้อทอดไร้น้ำมันต่างพุ่งสูงขึ้นจนดูผิดปกติเหมือนเป็น Signal เมื่อเจาะเข้าไปดูก็จะเห็นว่าวันนั้นคือวันที่ 4 เมษายน 2563 เรียกได้ว่าเกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่คนไทยค้นหาหม้อทอดไร้น้ำมันนานที่สุดถึง 1 เดือนเต็มเลยทีเดียว


ถ้าดูจากเส้นกราฟที่บอกถึงจำนวนการค้นหาของคนไทยที่เกี่ยวกับหม้อทอดไร้น้ำมันจะเห็นได้นะครับว่า ก่อนหน้านี้ก็เหมือนจะคงที่ทรงตัวอยู่ดีๆ แต่ก็อาจจะมีในช่วงวันที่ 29-31 มีนาคมที่มีการค้นหาที่เกี่ยวกับหม้อทอดไร้น้ำมันเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้เพิ่มสูงจากช่วงเวลาก่อนหน้ามากจนน่าตกใจ แต่พอเป็นช่วงวันที่ 4 เมษายน 2563 เท่านั้นแหละกลายเป็นว่ามีการค้นหาคำว่า “หม้อทอด” เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ส่วนคำว่า “หม้อทอดไร้น้ำมัน” เองก็เพิ่มขึ้นกว่า 6.5 เท่าครับ!


ดังนั้นผมจึงตั้งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นวันที่ 4 เมษายน 2563 นี้แหละที่คนไทยมากมายแห่กันค้นหาหม้อทอดไร้น้ำมันกันอย่างบ้าคลั่งจนกลายเป็นปรากฏการณ์ เพราะเมื่อดูจากกราฟที่แสดงถึงข้อมูลการค้นหาคำที่เกี่ยวกับหม้อทอดไร้น้ำมันก็บอกให้รู้ว่าจากนั้นแม้กราฟจะตกลงบ้าง แต่ก็จะพอเห็นเทรนด์แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนไปสูงสุดในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ครับ


ตอนนี้จาก Google Trends บอกให้ผมรู้ว่ากระแสอยากได้หม้อทอดไร้น้ำมันเกิดขึ้นวันไหน แต่ Google Trends เองก็ไม่ได้บอกให้รู้ว่าในวันนั้นตัวแปรใดที่ทำให้คนไทยแห่กันเสิร์จหาหม้อทอดไร้น้ำมันขึ้นมา ก็ถึงเวลาที่ผมต้องสลับไปใช้อีกเครื่องมือหนึ่ง นั่นก็คือ Social listening tool ซึ่งในตอนนี้ผมจะเอาอีกเครื่องมือหนึ่งมาสาธิตให้ดูว่าเจ้าเครื่องมือ Social listening tool ตัวนี้ทำอย่างอย่างไร ที่สำคัญเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผมใช้ประจำเพราะหน้าตาใช้งานง่าย และก็เต็มไปด้วย Dashboard มากมายที่นักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจคุ้นเคยครับ


Mandala – Social listening tool ตัวใหม่ที่อยากให้คุณรู้จัก


เข้าไปที่เว็บไซต์ www.mandalasystem.com แล้วคุณจะพบหน้านี้ สำหรับใครที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกหรือสมัครใช้บริการ ก็เลือกสมัครได้ตามใจในแพคเกจที่คุณต้องการ แต่ถ้าอยากจะลองใช้ดูก่อนก็ไม่มีปัญหา เพราะ Social listening tool ของ Mandala นั้นเปิดให้ใช้ฟรีได้แบบ Freemium ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการดึกข้อมูลย้อนหลัง กับจำนวนข้อความสามารถดึงย้อนหลังมาดูได้ครับ


พอกดสมัครสมาชิกแบบ Freemium หรือเสียเงินเรียบร้อยแล้วให้คุณกดไปที่คำว่า Login สีเทาๆ มุมขวาบน หรือเข้าไปที่ www.mandala-analytics.com/auth/ แล้วคุณจะเห็นหน้าตาประมาณนี้ครับ


จากนั้นคุณก็แค่ล็อคอินเข้าไปให้เรียบร้อยคุณจะไปโผล่ในหน้าที่เรียกว่า Projects ซึ่งลำดับขั้นตอนการใช้งานจะแตกต่างจาก Zanroo Search ประมาณนึงที่ผมเคยเขียนถึงในเล่มที่ 2 แต่ไม่ยากครับ เรียนรู้ไปพร้อมกันกับผมได้


เมื่อหน้า Projects ปรากฏขึ้นมาก็จะแสดงถึงโปรเจคงานต่างๆ ที่ผมเลือกสร้างไว้ตั้งแต่ตอนแรก ถ้าดูแบบนี้จะเห็นเลยนะครับว่าผมมีหลายโปรเจคที่กำลังใช้ Social listening tool ทำ Marketing research ให้ลูกค้าอยู่มากมาย เอาเป็นว่าผมขอข้ามเข้าไปสู่โปรเจคที่ผมกำลังทำเรื่องหม้อทอดไร้น้ำมันที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ในบทนี้เลยดีกว่าครับ


ผมเข้าไปที่ Topic Trends ซึ่งเป็นโปรเจคที่ผมสร้างขึ้นมาเพื่อทำอะไรสนุกๆ ของตัวเองไปเรื่อยๆ เป็นโปรเจคที่รวมหัวข้อที่ผมกำลังให้ความสนใจ ซึ่งก็รวมไปถึงหม้อทอดไร้น้ำมันนี่แหละครับ



ถ้าดูจากภาพจะเห็นว่า ผมทำการดึงข้อมูลบนออนไลน์และโซเชียลมีเดียย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผมดึงแค่นี้ก็เพราะตอนนี้ผมรู้แล้วหนิครับว่าเทรนด์การค้นหาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ในส่วนวันสุดท้ายที่ผมดึงข้อมูลทิ้งเอาไว้ก็คือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ครับ ด้วย Keyword คำต่างๆ ที่ผมเลือกใช้ในการดึง ตั้งแต่

  • หม้ออบลมร้อน
  • หม้อทอดไร้น้ำมัน
  • หม้อทอด

ตามมาด้วย Keyword รองที่ผมอยากรู้ต่อว่า ตกลงแล้วคนเอาหม้อทอดไร้น้ำมันไปทำเมนูแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่าง

  • ไข่
  • ไก่
  • หมูกรอก
  • กุ้ง

บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใส่แค่คำว่า “หม้อทอดไร้น้ำมัน” ทำไมถึงต้องใส่คำว่า “หม้ออบลมร้อน” กับ “หม้อทอด” แบบห้วนๆ ด้วย ผมจะบอกว่าก่อนจะเขียนบทความนี้ผมทำการ Research มาหลายสิบครั้งแล้ว ลองใส่คำว่าหม้อทอดไร้น้ำมันแล้วเข้าไปอ่าน ก็พบว่าแท้จริงแล้วหม้อทอดไร้น้ำมันที่เราเรียกคุ้นปากกันชื่อเรียกที่ถูกต้องคือ “หม้ออบลมร้อน” ครับ ส่วนพอผมดู Social data ไปสักพักก็พบว่าคนส่วนใหญ่เรียกแค่คำว่า “หม้อ” ทอดเสียมากกว่า ซึ่งเดี๋ยวผมจะกลับมาอธิบายในส่วนวิธีการใช้งานแบบเต็มๆ อีกครั้งที่จะแยกออกไปในอีกบทหนึ่งครับ


ทีนี้เมื่อผมใส่ Keyword คำที่อยากรู้เข้าไปจนเสร็จ ตั้งระยะเวลาที่ต้องการดูข้อมูล แล้วก็รอให้ระบบ Mandala analytics ใช้เวลาในการดึงข้อมูลสักพัก จากนั้นผมก็กดเข้าไปดูที่รูปไอคอนดวงตา ที่เขียนว่า Social Listening เพื่อจะได้ดูข้อมูลเฉพาะที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มหลักๆ อย่าง Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube ครับ ส่วนข้อมูลที่เป็นของเว็บบอร์ดสาธารณะอย่าง Pantip หรือเว็บอื่นๆ จะต้องกดที่ไอคอนข้างๆ ที่เป็นรูปวงกลมแชทคุยกัน กับที่เป็นรูปไอคอนเหมือน Google Chrome ทีนี้พอผมกดเลือกเข้ามาดู Data เฉพาะของ Social media ก็จะปรากฏหน้าตาแบบนี้ครับ


โดยค่าตั้งต้นของ Mandala analytics จะแสดงข้อมูลแค่ 30 วันย้อนหลังนับจากวันที่เราใช้งาน ดังนั้นถ้าใครตั้งดึงข้อมูลย้อนหลังไปนานกว่านั้นก็แค่ต้องกดเลือกปรับตั้งค่าให้ตรงกับวันที่เราต้องการดูเป็นพิเศษ ซึ่งในกรณีนี้เรารู้แล้วว่าวันที่ 4 เมษายน 2563 คือวันที่น่าจะเกิดอะไรบางอย่างขึ้นจนทำให้คนแห่กันไปเสิร์จหาหม้อทอดไร้น้ำมันเพิ่มขึ้นหลายเท่าภายในวันนั้น แต่เราจะลองมาดูภาพรวมของการพูดถึงหม้อทอดไร้น้ำมันทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563 กันก่อนครับ


ผมกดเข้าไปที่ DATA TIME FRAME ที่ดูแล้วรู้ว่าเป็นตัวเลขปฏิทิน ทีนี้ผมก็กดเข้าไปตรงแถบที่เขียนว่า Campaign Date มันก็จะเลือก Data ในช่วงเวลาดังกล่าวขึ้นมาแสดงผล แล้วผมก็กด Apply เพื่อปิดไป แต่สุดท้ายข้อมูลจะยังไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าคุณจะกดปุ่มด้านขวาสีม่วงๆ ที่เขียนว่า Search ครับ



เมื่อกดปุ่ม Search แล้วข้อมูลที่ Mandala analytics นำมาแสดงผลจะปรับให้เป็นไปตามที่เราเลือก จากกราฟเส้นในส่วนของ Data Timeline จะเห็นว่ามีความละเอียดขึ้นกว่าเดิมมาก ถ้าดูจากข้อความก็จะเห็นว่าเพราะจำนวนวันที่ถูกนำมาแสดง Data นั้นเพิ่มขึ้นตามที่เรากำหนดครับ ทีนี้ถ้าเราดูกราฟนี้เปรียบเทียบกับ Google Trends ก็จะค่อนข้างมีความสอดคล้องกัน


แต่ถ้าดูจากในช่วงแรกของการที่หม้อทอดไร้น้ำมันถูกพูดถึงบนโซเชียลนั้นกลับน้อยกว่ากราฟที่เป็นข้อมูลการเสิร์จหาจาก Google Trends อย่างเห็นได้ชัดเจนว่า ในช่วงเวลาที่คนเริ่มเสิร์จหาเยอะที่สุดนั้นกลับเริ่มจะมาเป็นกระแสบนออนไลน์ แต่ในช่วงเวลาที่หม้อทอดไร้น้ำมันถูกพูดถึงเยอะที่สุดบนออนไลน์นั้น ก็กลายเป็นช่วงเวลาที่กระแสความต้องการสินค้าดังกล่าวจางลงไปแล้ว


ดังนั้นถ้าเราสามารถแกะรอยต้นกำเนิดเทรนด์ว่าใครทำให้หม้อทอดไร้น้ำมันดัง และดังได้ด้วยวิธีไหน เราก็น่าจะเอาไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจจะให้ Influencer คนเดียวกันนั้นช่วยโพสถึงเครื่องครัวชิ้นอื่นจากเราได้หรือไม่ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจนะครับ


ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเทรนด์การค้นหาหม้อทอดไร้น้ำมันบน Google เกิดขึ้นวันที 4 เมษายน 2563 สิ่งที่ผมจะทำต่อก็คือเจาะเข้าไปดูในวันที่ 4 เมษายนนั้นเลยครับว่า ตกลงแล้วในวันนั้นมีใครบ้างที่โพสถึงหม้อทอดไร้น้ำมันบนออนไลน์ แล้วก็มานั่งวิเคราะห์หาว่าน่าจะมาจาก Influencer คนไหนที่น่าจะเป็นต้นตอที่ทำให้กระแสหม้อทอดไร้น้ำมันขายดีจนของขาดตลาดครับ


และนี่ก็เป็น Top post ที่ได้ Engagement ดีๆ ในวันนั้น ผมขอหยิบมา 3 ตัวเลือกที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้คุณลองทายดูก่อนว่าน่าจะเป็นโพสของใครที่ทำให้คนแห่กันไปค้นหาหม้อทอดไร้น้ำมันจนกลายเป็นเทรนด์ขึ้นมา



โพสมาจากเพจ Sale Here ชื่อดังที่มีโปรหม้อทอดไร้น้ำมันอยู่ในโพส



โพสที่สองมาจากเพจกินไม่หยุดที่มีคนติดตามนับล้าน เขาใช้หม้อทอดไร้น้ำมันทำบะหมี่เกาหลีจางจังเมียนกินจนผู้ติดตามต่างบ่นว่าอยากกินบ้างๆ

โพสที่สามมาจาก Twitter ที่ชื่อว่าลิตเติ้ลเจ @JOMMJOM

ผมอยากให้คุณเลือกคำตอบไว้ในใจว่าน่าจะเป็นโพสไหน ก่อนจะเริ่มอ่านเฉลยว่าเป็นโพสใดในบรรทัดถัดไปครับ


ก่อนจะเฉลยผมอยากให้คุณคิดก่อนว่าเราได้ยินหม้อทอดไร้น้ำมันในช่วงแรกกับเมนูใดมากที่สุด แน่นอนว่าไม่ใช่โปรโมชั่นเพราะนั่นคือสิ่งที่คนสนใจแล้ว งั้นทีนี้เราก็เหลือสองตัวเลือกระหว่างบะหมี่เกาหลีจางจังเมียนที่ดังมาจากหนังซีรีส์เกาหลี หรือเรารู้จักหม้อทอดไร้น้ำมันจากการทอดหมูกรอบมากกว่ากันครับ


พอบอกแบบนี้คุณคงรู้คำตอบที่ถูกต้องในใจแล้วใช่มั้ยครับ ถ้าใครเลือกโพสที่สามบอกได้เลยว่าคุณกำลังมีทักษะการเป็น Data Thinking อยู่ในตัวแล้วหละครับ เพราะเมื่อถามคนส่วนใหญ่รอบตัวล้วนบอกว่ารู้จักหม้อทอดไร้น้ำมันจากการทำเมนูหมูกรอบ และการทอดหมูกรอบด้วยหม้อทอดไร้น้ำมันได้ก็เป็นอะไรที่เซอร์ไพรซ์คุณผู้หญิงมาก จนทำให้เกิดกระแสการแห่ซื้อหม้อทอดไร้น้ำมันกันมากมายจนกลายเป็นอุปกรณ์ทำครัวที่แทบจะมีกันทุกวันในช่วงกักตัวอยู่บ้านเพราะโควิด19 ครับ


แล้วเมื่อดูในรายละเอียดของจำนวน Engagement ที่เกิดขึ้นก็จะเห็นว่าโพสของสองเพจแรกถูกแชร์ไปแค่สี่ร้อยกว่าๆ แต่พอเป็นโพสของลิตเติ้ลเจนั้นกลับถูกรีทวีตซึ่งก็เหมือนกับการแชร์บนเฟซบุ๊คออกไปมากถึง 7.4 พันครั้ง เรียกได้ว่าต่างกันหลายสิบเท่าจนเกือบยี่สิบเท่าเลยทีเดียว


ดังนั้นเมื่อรู้แบบนี้ผมคิดว่าบัญชีทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า ลิตเติ้ลเจ เธอน่าจะเป็น Influencer สายเข้าครัวทำอาหาร หรือแม่บ้านชั้นดี เพราะเมื่อเธอเอาหม้อทอดไร้น้ำมันมาทำเมนูหมูกรอบให้ทุกคนเซอร์ไพรซ์ได้ เพราะไม่คิดว่าเมนูหมูกรอบจะสามารถทำให้กรอบและอร่อยได้โดยไม่ต้องใช้น้ำมันใดๆ เพิ่ม นั่นหมายความว่ายังคงมีเมนูอ้วนๆ อีกมากที่ผู้หญิงและคนที่รักสุขภาพคงอยากจะปลดล็อคมันออกมาจากความอ้วน ถ้าใครสามารถทำให้คนกินของอ้วนแล้วไม่อ้วนได้โดยไม่รู้สึกผิดเหมือนการเอาหมูกรอบมาทอดด้วยหม้อทอดไร้น้ำมันนี้ ผมว่าน่าจะรวยจนนอนนับเงินได้สบายไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว


เมื่อรู้แบบนี้แล้วผมคิดว่าบรรดาบริษัทที่ขายหม้อทอดไร้น้ำมันน่าจะยกความดีความชอบให้ลิตเติ้ลเจเธอนะครับ เพราะเธอเป็นคนเอาหม้อทอดไร้น้ำมันมาทำหมูกรอบจนทำให้ใครๆ ก็อยากได้หม้อนี้ติดบ้าน (เหมือนที่บ้านผมก็จัดไปหนึ่งหม้อ) บรรดาแบรนด์เจ้าของหม้อไร้น้ำมันทั้งหลายน่าจะให้รางวัลเธองามๆ สมกับที่เธอสร้างเทรนด์หม้อทอดไร้น้ำมันขึ้นมาได้ปังขนาดนี้ หรือถ้ามองต่อยอดไปอีกนิดผมคิดว่าเครื่องครัวอื่นๆ ถ้าอยากให้ปังก็อาจจะต้องฝากเธอมาใช้และเอาไปแนะนำต่อผู้ติดตามที่มีมากกว่าแปดหมื่นคนบนทวิตเตอร์


แล้วใครที่คิดไปเองว่าทวิตเตอร์เป็นโซเชียลมีเดียเฉพาะของเด็กหรือสายเกาหลีหรือ Fandom บอกได้เลยว่าคิดผิดคิดใหม่ เพราะคุณก็คงเห็นจาก case study นี้แล้วว่าหม้อทอดไร้น้ำมันอุปกรณ์เครื่องครัวที่ไม่ได้เด็กเลยกลับถูกจุดกระแสติดในช่องทางนี้ ถึงเวลาที่คุณต้องหัดใช้ Social listening tool ให้บ่อยกว่านี้เพื่อจะได้ไปตามหาว่าใครกันนะที่เป็น Influencer ในธุรกิจของคุณ เพื่อจะได้รีบเข้าไปสนับสนุนให้เค้าช่วยโปรโมตให้เราได้ก่อนคู่แข่งครับ


เป็นอย่างไรครับกับการไล่ตาม Data ไปจนเจอว่าใครกันนะที่ทำให้หม้อทอดไร้น้ำมันดังและปังในบ้านเรา เริ่มจากการคิดก่อนว่าถ้าอะไรสักอย่างจะดังมันจะต้องดูจากอะไร การคิดแบบ Data Thinking ทำให้เรารู้ว่าถ้าคนเริ่มให้ความสนใจคนก็จะต้องเสิร์จหาสิ่งนั้นอย่างแน่นอน จากจุดนั้นทำให้เรารู้ว่าเราต้องเข้าไปดูข้อมูลนี้ผ่าน Google Trends เครื่องมือฟรีในการเข้าถึง Search data ที่นักการตลาดทุกคนควรใช้ด้วยตัวเองให้เป็นในวันนี้


จากนั้นเมื่อรู้แล้วว่าวันไหนที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นที่สนใจขึ้นมาด้วยการเสิร์จหาเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ การคิดแบบ Data Thinking ทำให้เรารู้ว่าเราต้องไปดูว่าในวันนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างบนออนไลน์ แล้วเครื่องมือที่จะทำให้เราเข้าถึง Data นั้นได้ก็คือ Social listenin tool นั่นเองครับ


เมื่อเราใช้ Social listening tool ดึงข้อมูลย้อนหลังออกมา จากนั้นก็ทำรีเสิร์จคีย์เวิร์ดสักหน่อยว่าตกลงคนเรียกของที่เราอยากรู้อย่างหม้อทอดไร้น้ำมันนี้ด้วยคำว่าอะไรกันแน่ แล้วนั่นก็ทำให้ผมพบว่าคนเรียกเจ้าหม้อนี้แค่คำว่า “หม้อทอด” เฉยๆ มากกว่า “หม้อทอดไร้น้ำมัน” หรือ “หม้ออมลมร้อน” ซึ่งเป็นคำเรียกที่ถูกต้อง จากจุดนั้นเองทำให้ผมได้ค้นพบว่าในวันที่ 4 เมษายน 2563 นั้นตกลงใครที่โพสแล้วทำให้หม้อทอดไร้น้ำมันปังจนของขาดตลาด และนั่นก็คือทั้งหมดที่เล่าไปในวันนี้ครับ


สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่าหลายสิ่งที่เราอยากรู้ไม่ได้มีคำตอบบอกตรงๆ การจะเป็น Data Thinking ที่ดีคือการพยายามคิดหาว่า Data แบบไหนที่จะสามารถเป็นตัวชี้วัดหรือ Metric ที่สะท้อนถึงคำตอบที่เราอยากรู้ได้ ก็เหมือนกับที่ผมอยากรู้ว่าหม้อทอดไร้น้ำมันดังเพราะใคร เมื่อไม่มีเครื่องมือไหนหรือ Data ใดที่จะให้คำตอบตรงๆ ได้ ผมก็ต้องค่อยๆ แกะรอย Data ไปจนเจอต้นตอคำตอบที่พอใจก็เป็นการได้เรียนรู้กับ Data ไปพร้อมกันครับ

อยากทดลองใช้ Mandala Analytics ตามลิงก์นี้ไปได้เลยครับ > https://www.mandalasystem.com/free_trial


ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเว็บไซต์ และเพจการตลาดวันละตอน 

Mandala Team

Creator

Share this post

Search the blog

Mandala Newsletter

Sign-up to receive the latest insights in to online trends