Blogs & Articles

ส่องกระแสการตลาดแบรนด์ต่าง ๆ ช่วง Pride Month ด้วย Mandala Analytics

social listening tools

เดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็นเดือนแห่ง Pride Month หรือการเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมทางเพศของทุกคนในสังคม สำหรับประเทศไทยกระแสเกี่ยวกับ Pride Month ถือว่าเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยค่อนข้างเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศ ถึงแม้ว่าจะยังมีบางส่วนที่ถูกปิดกั้นก็ตาม ทำให้คนไทยที่เป็นตัวแทนหรือคนที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ออกมาพูดและแสดงจุดยืนกันเยอะมาก ในเดือนนี้เราเลยได้เห็นสัญลักษณ์สีรุ้งที่เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศกันเยอะมากค่ะ 


ในช่วง Pride Month แบรนด์ต่าง ๆ ก็มักจะทำการตลาดกับ #Pride Month เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ตัวอย่างที่ทุกคนต้องเคยสังเกตเห็นอย่างแน่นอนในช่วงนี้ คือ การเปลี่ยนโลโก้ของแบรนด์เป็นสีรุ้ง เช่น ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ และแสนสิริที่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถ้าหากใครติดตามแบรนด์อื่น ๆ ในโซเชียลมีเดียคงได้เห็นโลโก้สีรุ้งในอีกหลายแบรนด์เลยค่ะ

บทความในวันนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเทคนิคการทำการตลาดของแบรนด์กับกระแสสังคมอย่างสร้างสรรค์ และชี้แนะแนวทางการปรับตัวของแบรนด์ที่อาจไม่เคยทำการตลาดช่วง Pride Month ผ่านตัวอย่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่คนไทยให้ความสนใจมากที่สุด



การตลาดของแบรนด์กับกระแส Pride Month


เรามาลองดูกันว่าแบรนด์ไหนสามารถทำการตลาดกับกระแส Pride Month แล้วมียอดการมีส่วนร่วมของคนหรือ Engagement พุ่งสูงภายในครึ่งเดือนมิถุนายน โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 15 มิถุนายน 2564 ผ่านเครื่องมือ Social Listening Tool ที่ชื่อว่า Mandala Analytics โดยประเด็นที่เราต้องการทราบมีดังนี้


  • Keyword ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศคำไหนถูกพูดถึงมากที่สุด

  • 5 อันดับแบรนด์แรกที่มียอดการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดช่วง Pride Month



Keyword ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ


ผลลัพธ์การค้นหา Pride Month ใน Google


เมื่อเราลองค้นหาคำว่า “Pride Month” ใน Google ผลลัพธ์ของการค้นหาทำให้เราทราบว่าคำที่ถูกพูดถึงร่วมกันจากหลายเว็บไซต์ คือคำว่า LGBT และ LGBTQ 


สรุปปริมาณการค้นหารายเดือนโดยเฉลี่ยของ Keyword ทั้งหมดจาก Google Keyword Planner


หลังจากนั้นเราจึงลองใส่ LGBT และ LQBTQ ลงใน Google Keyword Planner เครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบดูปริมาณการค้นหารายเดือนโดยเฉลี่ย โดยพบว่าทั้ง 2 คำมีปริมาณการค้นหาที่สูงถึง 10,000-100,000 ครั้ง แสดงว่าถูกใช้กันอย่างมาก ดังนั้นสรุป Keyword ทั้งหมดที่ใช้จึงเป็นคำว่า Pride, Pride Month, LGBT และ LGBTQ ค่ะ



Keyword ไหนถูกพูดถึงมากที่สุด


หลังจากที่ใส่ Keyword ทั้งหมดลงในเครื่องมือ Mandala Analytics ผลลัพธ์จำนวน Mention หรือการพูดถึงบนโลกออนไลน์ของแต่ละคำมีสัดส่วนดังนี้


  • Pride มีจำนวน Mention 39.9%

  • LGBTQ มีจำนวน Mention 31.7%

  • Pride Month มีจำนวน Mention 14.8%

  • LGBT มีจำนวน Mention 13.6%



Keyword & Hashtag ใน Mandala Analytics


จากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่า Keyword คำว่า Pride และ LGBTQ ถูกพูดถึงมากที่สุด ส่วนวันที่มีการพูดถึง Keyword ทั้งหมดสูงสุด คือ วันที่ 2 มิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของเทศกาล Pride Month และจากการวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ประกอบด้วย Keyword ทั้งหมดนี้ ทำให้เราได้ Insight ของ 5 แบรนด์ที่ทำการตลาดกับ Pride Month แล้วมียอด Engagement สูงสุด ดังนี้


5 แบรนด์อันดับแรกที่มียอดการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุด


1. นัท นิสาขึ้นปกนิตยสาร Harper's BAZAAR Thailand 

Instagram: (nisamanee_nutt) - 93,039 Engagement ,(bazaarthailand) - 21,945 Engagement

Facebook: (สะบัดแปรง) - 44,781 Engagement


https://www.facebook.com/358556057845083/posts/1388448771522468/


BAZAAR ชวน “นัท นิสามณี” เจ้าของเพจสะบัดแปรง มาขึ้นปกนิตยสารต้อนรับ Pride Month ฉบับเดือนมิถุนายน ณ มหานคร New York ในธีมชุด 7 ลุค 7 สี 


โดยชุด 7 สีในการถ่ายแบบ มีความหมายสื่อตามธงสีรุ้ง สีเหลือง คือแสงอาทิตย์ส่องสว่าง, สีแดง คือชีวิต, สีเขียว คือธรรมชาติ, สีน้ำเงิน คือความสามัคคี, สีชมพู คือเพศ, สีส้ม คือการเยียวยา และสีม่วง คือจิตวิญญาณแน่วแน่ อีกทั้งการเลือกใช้ New York เป็นสถานที่ถ่ายทำยังมีความหมาย เพราะในปี 1960 เมืองนี้เคยออกกฎหมายลิดรอนสิทธิ์ห้ามประชาชนแต่งตัวไม่ตรงเพศสภาพและห้ามเปิดบาร์เกย์ จนเกิดเหตุจับกุมผู้ใช้บริการบาร์เกย์ Stonewall Inn ซึ่งตำรวจอ้างว่าขายแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กลับพยายามทำร้ายกลุ่มข้ามเพศโดยใช้อาวุธฟาดศีรษะ เหตุนี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการเรียกร้องสิทธิ์ให้ชาว LGBTQ+ ทั่วอเมริกา

(ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.gqthailand.com/culture/article/history-of-rainbow-flag และ https://www.springnews.co.th/program/810447)


ปัจจุบันคุณนัทมีผู้ติดตามใน Facebook สูงถึง 1.4 ล้านคน และใน YouTube 1.5 ล้านคน สาเหตุที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างมาก เนื่องจากคุณนัทเป็นตัวแทนของชาว LGBTQ+ ที่มีความมั่นใจในความเป็นตัวเอง อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม, เครื่องสำอาง, ร้านทำเล็บ และสร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ได้ถูกใจผู้ชมทุกเพศทุกวัย การที่คุณนัทได้ขึ้นปกนิตยสารชื่อดังของเมืองไทยที่เคยใฝ่ฝันในตอนเด็ก ทำให้หลายคนรู้สึกยินดีและมองเธอเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ตามคำพูดที่ว่า “นัท นิสา = ปัง”


2. อุโมงค์สายรุ้งสามย่านมิตรทาวน์

Facebook: (เที่ยวแล้วเที่ยวอีก) - 17,993 Engagement ,(THE STANDARD) - 3,682 Engagement

Instagram: (thestandardth.ig) - 9,891 Engagement


https://www.facebook.com/340761177409400/posts/340814884070696


สามย่านมิตรทาวน์ เนรมิตอุโมงค์สายรุ้งจากทางเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามย่านมายังศูนย์การค้า เพื่อให้ทุกคนได้มาถ่ายรูปในเทศกาล Pride Month เพื่อร่วมแคมเปญ Samyan Mitr Proud 100% Love ส่งต่อความรักเต็มร้อย ให้คุณเป็นตัวเองให้เต็มที่ พร้อมแจกสเปรย์แอลกอฮอล์สุดพิเศษฟรีจำนวนจำกัด 50 ชิ้นทุกวัน แค่โชว์สติกเกอร์วัดอุณหภูมิ Pride Month Edition เท่านั้น สามารถไปเช็กอินถ่ายรูปสวย ๆ ฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนถึง 11 กรกฎาคม 2564 


https://www.facebook.com/SAMYANMITRTOWN/posts/1278653432536604


แผนการตลาดของศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ไม่เพียงอยากให้คนมาถ่ายรูปเช็กอินกับอุโมงค์สายรุ้งฟรีเท่านั้น แต่เป็นการช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้าได้มากขึ้น โดยลองวิเคราะห์ผ่านสถานการณ์ดังนี้

A. อยากถ่ายรูปแบบไม่ติดคนเยอะ → มาห้างตั้งแต่เช้า → หมดพลังงานและรู้สึกหิวเร็ว → เข้าห้างหาอะไรทาน

B. อยากได้สเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนหมด → มาห้างตั้งแต่เช้า → เดินไปแลกของที่ชั้น 3 หน้าร้าน Medium and More → โหลดและกดรับสิทธิ์ผ่าน Mitr App → ค้นพบส่วนลดและแลกรับ Voucher → ซื้อของที่ห้าง

C. นัดเจอเพื่อนและถ่ายรูป → เดินเล่นในห้าง → ซื้อของและกินข้าวด้วยกัน เพื่อพูดคุยอัปเดตเรื่องราว


จากทั้ง 3 สถานการณ์ข้างต้น เห็นได้ว่าสามย่านมิตรทาวน์มีโอกาสได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นจริงๆจากแคมเปญ Samyan Mitr Proud 100% Love นอกจากนี้ Word of mouth หรือการบอกต่อยังช่วยให้คนที่ยังลังเลอยากลองไปดูของจริงกันมากขึ้น เพราะคนที่ไปมาแล้วจะมาลงรูปแชร์ให้คนอื่นดูและบอกต่อถึงความสวยของอุโมงค์สายรุ้ง





3. รองเท้า CONVERSE PRIDE

Instagram: (punpromotion) - 11,465 Engagement

Facebook: (CONVERSE) - 4,488 Engagement


https://www.facebook.com/117248845035920/posts/4381989688561793/


Converse ออกรองเท้า collection ใหม่ “Converse Pride” เพื่อกลุ่ม LGBTQIA+ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของคนที่แตกต่างกัน ออกแบบผ่านลายเส้นสีสันสดใสที่สื่อถึงการต่อสู้ ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จนพบความสุขในเส้นทางที่เลือกและรักตัวเองมากขึ้น มีทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน คือ Converse Pride Run Star Hike ราคา 3,390 บาท, Converse Pride Chuck 70 ราคา 3,590 บาท, Converse Pride Chuck Taylor Hi ราคา 3,290 บาท และConverse Pride Chuck Taylor Low ราคา 3,190 บาท 


ถึงแม้ว่าจะเป็นรองเท้าเพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ แต่ความหมายโดยรวมสื่อถึงความเป็นตัวเองและการรักตัวเองให้กับทุกคน รวมถึงการออกแบบที่สดใส แนว unisex เข้าได้กับทุกเพศทุกวัย ทำให้รองเท้าสามารถขายได้กับทุกกลุ่มของลูกค้า แถมยังสามารถมอบเป็นของขวัญที่มีความหมายดี ๆ ให้คนอื่นได้อีกด้วย ซึ่งคอมเมนต์ส่วนใหญ่ต่างชมว่ารองเท้าสวย มีการแท็กคนอื่นขอให้ซื้อรองเท้าให้และถามความเห็นว่าซื้อดีหรือไม่


4. รองเท้านันยาง “Anti-bully Edition”

Facebook: (Urban Creature) - 13,705 Engagement


https://www.facebook.com/1736359789995583/posts/2697104157254470/


นันยาง วางจำหน่ายรองเท้านักเรียนรุ่น “Anti-bully Edition” ที่หยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในรั้วโรงเรียนมานำเสนอ ผ่านการรวบรวมข้อความของเหยื่อที่ถูกบูลลี่ในเรื่องต่าง ๆ จากโซเชียลมีเดีย รวมถึงการถูกทำร้ายหรือล้อเลียนเพราะเป็นกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงปัญหาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นจริงและชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยเสมอไป 


กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ คือเด็กนักเรียน เพราะเป็นวัยที่ผ่านปัญหาการถูกบูลลี่มาด้วยตัวเอง การใส่รองเท้านันยางรุ่นนี้จึงเปรียบเสมือนการเหยียบสิ่งที่ไม่ดีทิ้งไปและเตือนสติไม่ให้ไปบูลลี่ใคร นอกจากนี้นันยางยังได้ยอดการรับรู้ของแบรนด์ผ่านการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของคนที่เข้ามามีส่วนร่วม เกิดความรู้สึกทางบวกกับนันยางที่ควรได้รับการสนับสนุนจากการออกมาพูดถึงปัญหาสังคมและต่อต้านการบูลลี่ในโรงเรียน 


5. สายนาฬิกา Apple Watch รุ่น Pride Edition


Instagram: (punpromotion) - 4,871 Engagement

Facebook: (iPhoneMod.net) - 2,585 Engagement

Youtube: (iMoD Official) - 3,945 Engagement

Twitter: (spin9) - 1,285 Engagement 


https://www.facebook.com/137707208319/posts/10159182685618320/


Apple วางขายสาย Apple Watch รุ่น Pride Edition ปี 2021 แบบใหม่ 2 ตัวด้วยกัน คือ สายแบบ Braided Solo Loop ราคา 3,100 บาท และสาย Nike Sport Loop ราคา 1,600 บาท โดยการออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากธงสีรุ้ง Pride เพื่อแสดงถึงความภูมิใจที่ได้สนับสนุนการทำงานขององค์กรต่างๆ ที่ให้การช่วยเหลือกลุ่ม LGBTQ+


การขายสายนาฬิกาช่วง Pride month เปรียบเสมือนเครื่องประดับแบบพิเศษที่ทำให้คนมี Apple Watch รู้สึกอยากได้สายนาฬิกาเพิ่ม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีสายเพียงแบบเดียว การเปลี่ยนสายจึงเปรียบเสมือนการเปลี่ยนสไตล์ในแต่ละวัน อีกทั้งกลุ่มลูกค้าชาว LGBTQ+ ยังได้สินค้าที่ออกแบบมาเพื่อแสดงถึงความเป็นตัวเอง แถมราคาทั้ง 2 รุ่นยังอยู่ในระดับกลาง ไม่สูงจนคนทั่วไปจับต้องได้ยาก หากเทียบกับสาย Apple Watch Hermès ที่เสนอราคาสูงสุดอยู่ที่ 17,400 บาท


สรุป การใช้ Mandala Analytics ส่องกระแสการตลาดแบรนด์ต่างๆ ช่วง Pride Month


จากข้อมูลที่ได้จาก Mandala Analytics ทำให้เห็นว่าหลายแบรนด์ต่างเห็นถึงความสำคัญของกระแส Pride Month และงัดเทคนิคในการทำตลาดอย่างสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าสนใจอย่างมากค่ะ โดยใจความสำคัญของแต่ละแบรนด์ที่คนไทยให้ความสนใจสามารถสรุปออกมาได้ ดังนี้


1. ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างชาว LBGTQ+ : ต่อต้านการบูลลี่เพราะเพศสภาพ และสนับสนุนองค์กรที่ให้การช่วยเหลือกลุ่ม LGBTQ+

2. เปิดโอกาสให้แสดงความเป็นตัวเองได้เต็มที่ : เปิดพื้นที่และจัดกิจกรรมให้ชาว LGBTQ+ มาร่วมสนุก ถ่ายรูป แลกของรางวัล

3. สินค้าโดนใจพร้อมความหมายดี ๆ : ออกแบบสินค้าสีสันสดใสเพื่อชาว LBGTQ+ พร้อมสอดแทรกความหมายดี ๆ ให้กำลังใจ และรักในความเป็นตัวเองให้เต็มที่


ดังนั้น หากแบรนด์ไหนไม่มีไอเดียในการทำการตลาดช่วง Pride Month ก็สามารถศึกษาจากกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับแบรนด์ของตัวเองได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงกระแส Pride Month เท่านั้น แต่สามารถนำไปปรับใช้กับกระแสอื่น ๆ ได้เช่นกัน 


เครื่องมือ Mandala Analytics จึงมีประโยชน์ในการศึกษาดูตัวอย่างคอนเทนต์บนโลกออนไลน์จากแบรนด์อื่นที่ประสบความสำเร็จมียอด Engagement สูง รวมถึงผลตอบรับทั้งด้านดีและลบ เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างคอนเทนต์และทำแผนการตลาดของแบรนด์ตัวเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียงบประมาณในการลองผิดลองถูกไปอย่างมหาศาล


หากผู้อ่านท่านใดสนใจใช้ Mandala Analytics สามารถสมัครทดลองใช้ฟรี 7 วันได้ที่นี่



สามารถอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ blog/th/


Mandala Team

Creator

Share this post

Search the blog

Mandala Newsletter

Sign-up to receive the latest insights in to online trends