Blogs & Articles

สำรวจความคิดเห็นทางบวกและลบของชาวลาวที่มีต่อประเทศไทยด้วย Mandala Analytics

social listening tools

แนะนำเนื้อหา


มีคำกล่าวที่หลายคนคงเคยได้ยินว่า "ไทย-ลาว พี่น้องกัน" เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกันทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นอกจากนี้ภาษาลาวยังมีความคล้ายคลึงกับภาษาอีสานจากการอพยพของชาวลาวมาตั้งถิ่นฐานแถบฝั่งแม่น้ำโขงในอดีต ไทย-ลาวจึงสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันได้โดยง่าย อีกทั้งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการโคแวกซ์ (COVAX) พึ่งได้ทำการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 100,620 โดส ไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย และลาวยังประกาศให้คนไทยที่กำลังพำนักอยู่ในประเทศเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ฟรีอีกด้วย 


ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อนักการทูตหรือนักธุรกิจที่ทำกิจการระหว่างประเทศ เพราะระดับความสัมพันธ์ย่อมส่งผลถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการเจรจาต่อรองระหว่างกัน ดังนั้นการรับรู้ถึงทัศนคติที่เพื่อนบ้านมีต่อประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่ห้ามเพิกเฉยอย่างยิ่ง บทความในวันนี้จะพาทุกท่านเข้าไปเจาะประเด็นที่เกิดขึ้นระหว่างไทย-ลาวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาโดยใช้ Social Listening Tool ที่ชื่อว่า Mandala Analytics ค่ะ


เริ่มวิเคราะห์ด้วย Keyword เกี่ยวกับ "ประเทศไทย"

 

Keyword ที่ใช้ใน Mandala Analytics


การใช้เครื่องมือ Mandala Analytics จำเป็นต้องใส่ Keyword ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการศึกษา แล้วระบบจะทำหน้าที่เป็นตัวดึงข้อมูลที่มี Keyword  เหล่านั้นมาให้ 


ในกรณีนี้ Keyword ที่ใช้เป็นแบบกว้าง เนื่องจากไม่ได้ต้องการระบุว่าต้องเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในเรื่องไหน ดังนั้นคำที่ใช้จึงมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยรวม คือคำว่า ประเทศไทย, คนไทย และไทย+และ (ในกรณีที่พูดถึงไทยและเรื่องอื่น ๆ ร่วมกันในข้อความ) ซึ่งเราต้องการทราบความคิดเห็นของชาวลาวจึงต้องใช้ภาษาลาวในการค้นหา ได้แก่ ປະເທດໄທ, ຄົນໄທ และໄທ+ແລ


ข้อมูลที่ได้จาก Mandala Analytics

 

หน้า Dashboard ของ Mandala Analytics


จากระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 - 15 มิถุนายน 2564 พบว่าคนลาวมีส่วนร่วมกับโพสต์ในช่องทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยหรือ Engagement ทั้งหมดเท่ากับ 238,669 โดยช่องทางที่มีส่วนร่วมมากที่สุด คือ Facebook อยู่ที่ 150,506 หรือประมาณ 63.1% จากช่องทางทั้งหมด ดังนั้นเราจึงขอเจาะประเด็นต่าง ๆ ที่ Facebook เป็นหลักว่ามีความคิดเห็นทางบวก และลบในเหตุการณ์ไหนบ้างที่เกิดขึ้นค่ะ


สรุปผลข้อมูลจาก Facebook 

 

Facebook Summary ใน Mandala Analytics


จาก Facebook Sentiment สามารถทราบได้ว่าคนลาวพูดถึงคนไทยในทางบวกมากกว่าทางลบ โดยความเห็นทางบวกอยู่ที่ 4.9%  ส่วนความคิดเห็นทางลบอยู่ที่ 0.5% นอกจากนี้ Interaction Summary ยังแสดงให้เห็นถึงการมีปฏิกิริยาต่าง ๆ และสรุปได้ว่าจากการมีส่วนร่วมทั้งหมด 150,506 Engagement คนมีการกด Like มากที่สุดถึง 103,628 หรือคิดเป็น 69% 


อันดับเพจตามปฏิกิริยาของคน

 

Facebook Channel Summary ใน Mandala Analytics

 

Facebook Channel Summary ใน Mandala Analytics


ประโยชน์ของ Source Ranking by Interaction Type ใน Mandala Analytics ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางบวกและลบได้อย่างรวดเร็ว เพราะเครื่องมือได้ทำการแยกประเภทข้อมูล และจัดอันดับเพจตามปฏิกิริยาของคนจากมากสุดไปน้อยสุดทั้งทางบวก และทางลบให้ในเวลาอันสั้น โดยสามารถกดเลือก Interaction Type ที่ต้องการดูได้จาก Filter ได้แก่ All Reactions, Like, Love, Haha, Wow, Sad, Angry, Share และ Comment


ประเด็นใดบ้างที่ต้องการทราบ


เมื่อเราได้แยกประเภทของข้อมูลโดยใช้ Source Ranking by Interaction Type แล้ว ประเด็นที่ต้องการทราบว่าคนลาวพูดถึงคนไทยอย่างไร และหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นบวกหรือลบ รวมทั้งประเด็นที่ค้นพบมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง ดังนี้ 

  • WHAT: เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

  • WHEN: เกิดขึ้นเมื่อไหร่

  • WHO: ใครอยู่ในเหตุการณ์

  • WHERE: เกิดขึ้นที่ไหน

  • WHY: ทำไมถึงเป็นทางบวกหรือลบ

  • HOW: ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร


5 อันดับ ความคิดเห็นทาง "บวก" ของคนลาว


1. เบลล่า ราณี สวมชุดสาวภูไท 

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 19,607

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 18,169 Like, 1,202 Love, 3 Haha, 45 Wow


https://www.facebook.com/941113919267815/posts/3658499877529192/


“เบลล่า ราณี” สวมใส่ชุดสาวภูไท ทำการแสดงฟ้อนรำร่วมเทศกาลนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระองค์แสน ประจำปี 2564 ที่จังหวัดสกลนคร ทำให้คนลาวเข้ามาแสดงความคิดเห็นชื่นชมถึงความสวยของเบลล่าและเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามของเผ่าภูไท 


โดยเบลล่าเป็นนักแสดงชาวไทยเชื้อสายอังกฤษ ปัจจุบันมีผู้ติดตามใน Instagram ที่ 7.7 ล้านคน เธอโด่งดังอย่างมากในบทบาทของ “แม่หญิงการะเกด” จากละครบุพเพสันนิวาสทั้งในไทยและลาว ส่วนเผ่าภูไทเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มไทลาว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเอกลักษณ์ของสาวภูไท คือสวมใส่ซิ่นภูไทที่มีลวดลาย สวมเสื้อแขนกระบอกคอตั้งย้อมสีเข้มหรือสีดำ นิยมสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินหรือทอง และเกล้ามวยสูงทุกคนไม่ว่าเด็กหรือแก่ดังตัวอย่างในรูปประกอบ

(ศึกษาข้อมูลของเผ่าภูไทเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.isangate.com/isan/paothai_phutai.html)



ความโด่งดังและความสวยของเบลล่า ทำให้ไม่ว่าจะทำอะไรแฟนคลับต่างพากันอยากติดตาม ยิ่งสวมใส่ชุดเผ่าภูไทที่เกี่ยวข้องกับชาวลาวมาฟ้อนรำอย่างสวยงามด้วยแล้ว คนลาวต่างแสดงความคิดเห็นทางบวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “Beautiful”, “งามแท้” หรือ “สวยมาก” ดังนั้นเบลล่าจึงเปรียบเสมือนทูตทางวัฒนธรรมที่ช่วยสานสัมพันธ์อันดีระหว่างคนไทย และลาวในคราวเดียวกัน


2. ประกาศรับสมัครนักเรียน โรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 2,276

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 2,146 Like, 21 Love, 2 Haha, 1 Wow


https://www.facebook.com/204225876576895/posts/1227275520938587/


โรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ชาวลาว มีใจความโดยรวมว่า “ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน วิกฤตโลกร้อนทำให้เกิดความต้องการของช่างแอร์ และช่างซ่อมตู้เย็นตู้แช่เพิ่มขึ้น เปิดรับนักเรียนรอบแรกในวันที่ 5 ตุลาคม 2020 รับรอบละ 15 คน พร้อมอาหาร ที่พัก น้ำ ไฟ ฟรี เรียนจบมีงานทำ รายได้ดีแน่นอน สนใจติดต่อตามข้อมูลด้านล่าง” 


โรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีอาณาเขตติดกับลาว สามารถเดินทางข้ามด่านได้สะดวก เป็นสถาบันสอนแรงงานมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ ช่วยเตรียมความพร้อมทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และอบรมวัฒนธรรมเบื้องต้นก่อนไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ทางโรงเรียนจึงทำการประชาสัมพันธ์หลักสูตรกับชาวลาวที่มีความสนใจในทักษะแรงงานฝีมือที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก พร้อมรับประกันการมีงานทำหลังเรียนจบ ทำให้ได้รับความสนใจจากชาวลาวด้วยการสอบถาม และคอมเมนต์ในมิติต่าง ๆ เช่น “สนใจ”, “สอบถามค่าเล่าเรียน” และ “ไปเรียนได้เมื่อไหร่” เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้ด่านชายแดนปิด



กรณีนี้จึงทำให้ทราบว่าคนลาวมีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย ถือเป็นยุทธศาสตร์ของโรงเรียนหรือธุรกิจการศึกษาแถบชายแดนในการดึงดูดนักเรียนชาวลาว ด้วยการเน้นมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาที่ดี และรับประกันโอกาสสร้างอาชีพหรือรายได้ในอนาคต


3. ทุนการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 1,537

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 449 Like, 25 Love, 19 Wow


https://www.facebook.com/358206218383675/posts/626471964890431/


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับนักศึกษาพร้อมสนับสนุนทุนการศึกษา มีใจความโดยรวมว่า “โครงการทุนบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทย เปิดรับสมัครชาวลาว หลักสูตรระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก เป็นทุนเต็ม 100% หมดเขตรับสมัคร 15 ตุลาคม 2563”


ทุนนี้เป็นโครงการสนับสนุนค่าเล่าเรียน 100% แก่ชาวต่างประเทศจากประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ประจำปีการศึกษา 2564 สำหรับทุนศึกษาระดับปริญญาโท ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และทุนศึกษาระดับปริญญาเอก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ซึ่งเพจ “Ookard.com” ที่ปรึกษาด้านการศึกษา และมีผู้ติดตาม 14,000 คน ได้ทำการแชร์ทุนนี้ ส่งผลให้มีผู้ติดตามชาวลาวที่สนใจเรียนต่อระดับปริญญาโท และเอกแสดงความคิดเห็นเชิงสนใจในทุนการศึกษานี้เป็นจำนวนมาก เช่น “สนใจนิติศาสตร์”, “สนใจมาก” และ “มีสายไหนบ้าง” เป็นต้น



จากกรณีโรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี ซึ่งทำให้ทราบว่าคนลาวมีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทยจำนวนมาก ในกรณีนี้จึงได้ทราบเพิ่มเติมว่าคนลาวยังให้ความสนใจในการเรียนระดับสูงกว่าปริญญาตรี โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีอันดับสูงกว่าในลาว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 43 ของเอเชียโดยการจัดอันดับจาก QS Asia University Rankings 2021 ดังนั้นการสนับสนุนค่าเล่าเรียน และการเน้นในหลักสูตรที่มีคุณภาพจากการจัดอันดับของสถานศึกษา จึงสามารถใช้เป็นกลยุทธ์ของธุรกิจภาคการศึกษาได้ เช่น บริษัทที่ปรึกษาการเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักเรียนที่มีศักยภาพสูง


4. โครงการ “ถนนกินได้ ไร้สารพิษ” จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 914

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 343 Like, 28 Love, 1 Haha, 8 Wow


https://www.facebook.com/112344190116834/posts/306181090733142/


โครงการ “ถนนกินได้ ไร้สารพิษ” ของเทศบาล ต.ช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นโครงการภายใต้ “กองทุนสุขภาพตำบล” ส่งเสริมการปลูกผักริมทางหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร โดยห้ามใช้สารเคมี หรือนำผักไปขายเป็นรายได้ส่วนตัว เพื่อแบ่งปันอาหาร และให้เกิดความหลากหลายของพืชพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ในปัจจุบันมี 12 หมู่บ้านเข้าร่วมโครงการนี้ และสามารถปลูกผักริมถนนได้ทั้งหมด 21 กิโลเมตร (ศึกษาข้อมูลโครงการ ได้ที่ https://www.ahsouth.com/paper/606)



เพจ Facebook ที่นำเรื่องนี้มาลง ชื่อว่า “Environlao” ลงเรื่องราวหรือข่าวด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีผู้ติดตามประมาณ 1 หมื่นคน ผู้ติดตามคนลาวที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมจึงเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งชื่นชอบโครงการนี้, เปรียบเทียบกับที่ลาว หรือแสดงความสงสัย เช่น “เป็นความคิดที่ดี”, “เก็บแล้วอร่อยได้เลย”, “บ้านเขาทำได้ แต่บ้านเราทำไม่ได้เพราะ สัตว์เลี้ยงมีเยอะ แพะ วัว ควาย พอดีพวกนี้กินหมด” และ “รถวิ่งไปมาควันเต็มไปหมด ปลอดสารพิษตรงไหน? ” เป็นต้น


แสดงให้เห็นว่าคนลาวไม่เพียงแต่มีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเฉพาะประเทศตนเอง แต่ยังให้ความสนใจโครงการสิ่งแวดล้อมของเพื่อนบ้าน ถือเป็นโอกาสของไทย และลาวที่แลกเปลี่ยนแนวคิดในการรักษาสิ่งแวดล้อม นำโครงการที่ประสบความสำเร็จไปปรับใช้ และสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกัน


5. รัฐบาลไทยมอบเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลบ่อแก้วและไซยะบุรี

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 887

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 865 Like, 2 Love, 2 Haha, 1 Wow


https://www.facebook.com/211489562224711/posts/5724314064275539/


เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ด่านสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 4 (เชียงของ - ห้วยทราย) มีการจัดพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยควบคุมการระบาดของโควิด 19 ให้แก่โรงพยาบาลบ่อแก้ว และไซยะบุรีของสปป.ลาว


เพจ “Target magazine” เป็นผู้นำข่าวเผยแพร่สู่ชาวลาว โดย Target เป็นแนวหน้าสื่อออนไลน์ที่เชื่อถือได้ในประเทศลาว ให้ความรู้ และลงข่าวเกี่ยวกับธุรกิจ สังคมการเมือง  มีผู้ติดตามมากถึง 150,000 คน จากความมีน้ำใจของคนไทย ทำให้ความคิดเห็นของชาวลาวเป็นการแสดงความขอบคุณทั้งหมด



ซึ่งการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ให้แก่ชาวลาวในครั้งนี้ และยังได้ลงข่าวในเพจที่มีผู้ติดตามหลักแสน ส่งผลให้คนลาวมีความรู้สึกทางบวกกับไทยมากขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย-ลาวผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะเมื่อเดือนเมษายน ลาวเกิดการระบาดโควิดรอบใหม่จากกรณีชาวไทยลักลอบข้ามโขงไปลาวอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ในช่วงนั้นคนลาวไม่พอใจอย่างมาก


5 อันดับ ความคิดเห็นทาง "ลบ" ของคนลาว


1. เจ้าของร้านเกมชาวไทยติดโควิดเคสที่ 50 ในลาว

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 4,487

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 800 Like, 11 Haha, 12 Wow, 36 Sad, 619 Angry


https://www.facebook.com/313162219624584/posts/857222781885189/


วันที่ 11 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขลาว แถลงข่าวการตรวจพบผู้ป่วยโควิด 19 เคสที่ 50 โดยผู้ป่วยเป็นคนไทยอายุ 41 ปี เจ้าของร้านเกมที่เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ ติดเชื้อจากการสังสรรค์กับคนไทย 3 คนที่ลักลอบเข้าลาวอย่างผิดกฎหมาย จากเหตุการณ์นี้สร้างความกังวลแก่ชาวลาวเป็นอย่างมาก เพราะร้านเกมเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค จึงมีการสั่งปิดร้านเกมและอินเทอร์เน็ตทั่วเวียงจันทน์ รวมถึงสถานบันเทิงในช่วงปีใหม่ลาว 



ผลกระทบจากกรณีนี้ ทำให้ลาวที่ใกล้จะปลอดโควิดแบบถาวรในรอบ 28 วัน กลับมามีเคสใหม่อีกครั้ง ทั้งยังเกิดจากการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ทำให้คนลาวเกิดความไม่พอใจ และแสดงความคิดเห็นทางลบต่อเคสคนไทยนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น “เมืองชัยธานีมีคนข้ามจากประเทศไทยโดยไม่ถูกกักตัว รบกวนตรวจสอบ”, “ไม่รับผิดชอบต่อสังคม”, “ส่งกลับประเทศไม่ต้องรักษา” และ “ตั้งใจเอามาปล่อยใส่คนอื่น”


2. เคสที่ 59 เผยพี่สาวคนสนิท “ตุ๊กติ๊ก” ชวนหนุ่มไทย 2 คนลักลอบเข้าลาว

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 4,224

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 1,094 Like, 9 Love, 13 Haha, 4 Wow, 21 Sad, 423 Angry


https://www.facebook.com/104729200917628/posts/553856399338237/


ผู้ป่วยโควิดลำดับที่ 59 ของลาว ชื่อน.ส.มอนมีนา สุดทิดา หรือ “ตี๊นา สุดทิดา” อายุ 25 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ (ดงโดก) รวมถึงเป็นนักแสดง นางแบบที่มีชื่อเสียง และเจ้าของร้านอาหารชื่อ Funny 89 เปิดเผยว่า “ตุ๊กติ๊ก” หรือ “เอื้อยฮัก” (พี่สาวคนสนิท) ผู้ป่วยโควิดลำดับที่ 60 เป็นคนชวนหนุ่มไทย 2 คนลักลอบเข้าลาวอย่างผิดกฎหมาย และให้เธอเป็นคนพา 2 หนุ่มเที่ยวทั่วลาวไม่ว่าจะไหว้พระ กินอาหาร เที่ยวคลับบาร์ คาราโอเกะ หรือร้านนวด ในช่วงวันที่ 8-12 เมษายน ภายหลัง 5 วันต่อมาได้ทราบข่าวว่าทั้ง 3 คนติดโควิด และเธอเองเริ่มมีอาการป่วยในวันที่ 19 เมษายนจึงเดินทางไปตรวจที่โรงหมอมิดตะพาบ 150 เตียง สุดท้ายผลออกมาเป็นบวก


จากเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวลาวอย่างมาก และยิ่งมองคนไทยในแง่ลบมากกว่าเดิมว่าเป็นคนแพร่เชื้อ ทำให้ลาวต้องลำบากกันทั้งประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ผู้ป่วยโควิดลำดับที่ 50 เจ้าของร้านเกมคนไทยที่อาศัยอยู่ในลาวก็ติดโควิดจากคนไทยที่ลักลอบข้ามมาอย่างผิดกฎหมายเช่นกัน แต่ในคราวนี้ “ตุ๊กติ๊ก” เป็นคนชักชวนคนไทยเข้ามาแบบผิดกฎหมายเอง และยังให้ “ตี๊นา สุดทิดา” พาเที่ยวไปทั่วลาว ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสูงมาก ซึ่งหลังจากนั้นทำให้ลาวมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นจากคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับตี๊นา สุดทิดาถึง 28 คนในวันที่ 21 เมษายน



ความคิดเห็นทางลบส่วนใหญ่พูดถึงว่าพวกเธอทำแบบนี้กับประเทศได้อย่างไรทั้งที่รู้ดีว่าโควิดยังมีการระบาดอยู่ที่ประเทศไทย แต่ไม่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม แถมชักชวนคนไทยเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เช่น “จิตใจไม่แสดงถึงความรักชาติ”, “คิดยังไงให้คนไทยข้ามไป ทั้งที่รู้ว่าโควิดที่ไทยยังระบาดอยู่”, “จับเข้าคุกเลย งามแต่หน้าตาแต่จิตใจอํามหิต” เป็นต้น


3. เปิดประวัติไทม์ไลน์เคสที่ 59 “ติ๊นา สุดทิดา”

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 1,779

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 379 Like, 5 Love, 6 Haha, 5 Wow, 6 Sad, 110 Angry


https://www.facebook.com/105235957501348/posts/495211771837096/


วันที่ 20 เมษายน เพจ "ເປັນເລື່ອງ ເປັນຂ່າວ" ที่มีผู้ติดตามถึง 38,000 คน ออกมาโพสต์ไทม์ไลน์แบบละเอียดของผู้ป่วยโควิดลำดับที่ 59 หรือ “ติ๊นา สุดทิดา” นักแสดง นางแบบที่มีชื่อเสียง และเจ้าของร้านอาหารชื่อ Funny 89 ที่พา 2 หนุ่มไทย และพี่สาวคนสนิทไปเที่ยวทั่วลาวก่อนพบว่าทั้ง 3 คนติดโควิดในภายหลัง 


จากไทม์ไลน์เห็นได้ว่าสถานที่ต่าง ๆ สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้คนจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่คนมักไม่ใส่หน้ากากหรือระวังตัวเองน้อย เช่น ร้านคาราโอเกะ 8118, ร้านอาหาร Funny 89 และสถานบันเทิง WhatClub ซึ่งการที่เพจออกมาบอกไทม์ไลน์อย่างละเอียดนั้น เพราะต้องการให้คนที่เดินทางไปในสถานที่ดังกล่าวไปตรวจโควิด และกักตัวดูอาการของตนเอง 



ผลกระทบในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความไม่พอใจในคนไทยที่แพร่เชื้อเท่านั้น เพราะทั้ง “ติ๊นา สุดทิดา” และพี่สาวคนสนิทต่างก็ถูกชาวลาววิพากษ์วิจารณ์แง่ลบอย่างหนัก จนติ๊นาต้องตั้งค่าไอจีเป็นแบบส่วนตัวไม่ให้คนสาธารณะเข้ามาคอมเมนต์ได้ และทั้งสองคนอาจหมดที่ยืนในวงการได้เลยหากคนลาวยังไม่ให้อภัย โดยความคิดเห็นบางส่วน กล่าวว่า “เห็นแก่ตัวจริงๆ”, “เพราะประมาท ทั้งที่รู้ว่าประเทศไทยยังระบาดอยู่” และ“ไม่มีสมอง”


4. เปิดประวัติไทม์ไลน์เคสที่ 50 คนไทยเจ้าของร้านเกม

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 411

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 196 Like, 1 Haha, 1 Wow, 13 Sad, 14 Angry


https://www.facebook.com/1146291488734443/posts/4178225472207681/


เพจ "10ປາກເວົ້າບໍ່ເທົ່າ1ຕາເຫັນ" สำนักข่าวลาว รวมใจชาวลาวช่วยเหลือสังคม มีผู้ติดตาม 3 แสนคนได้ออกมาโพสต์ในวันที่ 11 เมษายน เพื่อเปิดเผยไทม์ไลน์แบบละเอียดของผู้ป่วยโควิดลำดับที่ 50 ซึ่งเป็นคนไทยอายุ 41 ปี เจ้าของร้านเกมในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ติดเชื้อจากการสังสรรค์กับคนไทย 3 คนที่ลักลอบเข้าลาวอย่างผิดกฎหมาย



หลังจากเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ป่วยอย่างละเอียดแล้ว ส่งผลชาวลาวเข้ามาแสดงความคิดเห็น และสอบถามเกี่ยวกับไทม์ไลน์กันเป็นจำนวนมาก เพราะก่อนหน้าจะเกิดเคสที่ 50 ลาวไม่มีผู้ป่วยโควิดมานานถึง 28 วันและใกล้จะปลอดจากโควิดแล้ว คนลาวจึงเกิดความตื่นตระหนก และต้องการแน่ใจว่าตัวเองจะไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากร้านเกมเป็นสถานที่ปิดที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสูงมาก ตัวอย่างความคิดเห็น เช่น “ทำไมไม่บอกชื่อร้านเกม คนใช้บริการจะได้กักตัว”, “ทำไมไม่บอกคนที่เกี่ยวข้องกับบ้านแฟนสาว จะได้ถูกกัก” และ“พากันตาย”


5. รถบรรทุกทะเบียนไทยชนแล้วหนี

การมีส่วนร่วมทั้งหมด (Engagement): 345

ปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction): 205 Like, 2 Wow, 92 Sad, 2 Angry


https://www.facebook.com/701530296639567/posts/3666150276844206/


เพจ ນາທີ ຊີວິດ/Accident/นาที“ มีผู้ติดตาม 170,000 คน ลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 รถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 71-0578 (ประเทศไทย) ชนและเหยียบเด็กชายวัย 10 ขวบใกล้โรงงานปูนซีเมนต์ในเมืองมะหาไซ แขวงคำม่วน แล้วขับรถหนีไป โชคดีที่พลเมืองดีและตำรวจจราจรแจ้งเจ้าหน้าที่สกัดไว้ทันก่อนหลบหนีข้ามประเทศ โดยเบื้องต้นคนขับไม่รับสารภาพ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีชิ้นส่วนร่างกายติดอยู่ที่รถ คนขับจึงยอมรับสารภาพและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของสปป.ลาวในขั้นตอนต่อไป



ความคิดเห็นส่วนใหญ่แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่คนขับรถบรรทุกชนแล้วหนี ไม่ยอมรับผิดถ้าไม่มีหลักฐานมัดตัว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคนไทยประมาททำให้เด็กตายและไร้ความรับผิดชอบ จนคนลาวต้องสาปแช่งให้ผลแห่งกรรมตามสนอง เช่น “หนีกฎหมายได้ แต่หนีกฎแห่งกรรมไม่ได้” และ“ขอให้กรรมตามสนอง” เป็นต้น


สรุป ความคิดเห็นทางบวกและลบของชาวลาวที่มีต่อประเทศไทย


ความคิดเห็นทาง "บวก" ที่คนลาวมีต่อไทย คือ

1. แหล่งการศึกษา สร้างอาชีพ สร้างรายได้: สถาบันไทยมีชื่อเสียงและโอกาสในการประกอบอาชีพหลังเรียนจบ

2. เคารพวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน: ชื่นชมในความสวยงามของเพื่อนบ้านและแลกเปลี่ยนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม

3. เพื่อนช่วยเหลือยามวิกฤติ: บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ยามเกิดโรคระบาด


ความคิดเห็นทาง "ลบ" ที่คนลาวมีต่อไทย คือ

1. ต้นเหตุเชื้อโควิด: ลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายและหนีเที่ยวทั่วลาว

2. ไร้ความรับผิดชอบ: ขับรถชนเด็กเสียชีวิตแล้วไม่รับสารภาพ


จากความคิดเห็นของชาวลาวที่มีต่อคนไทย ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่ด้านดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีด้านลบเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อโควิด ส่งผลให้คนลาวบางส่วนมองคนไทยในแง่ลบแบบเหมารวม การทูตไทยจึงต้องเร่งรักษาความสัมพันธ์อันดีไทย-ลาวด้วยการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 


ยิ่งเป็นภาคธุรกิจระหว่างประเทศยิ่งต้องใส่ใจในความคิดเห็นของลูกค้าทุกคนและประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้น หากความคิดเห็นไปทางบวก แบรนด์ต้องรักษาหรือพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และถ้าหากเป็นทางลบแบรนด์ต้องรีบจัดการปัญหาให้เร็วที่สุดก่อนจะสายไป แต่ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือแบรนด์ไม่มีเวลาติดตามทุกประเด็นที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา ดังนั้นเครื่องมือ Mandala Analytics จึงสามารถช่วยธุรกิจในการวิเคราะห์ว่าคนพูดถึงแบรนด์ไปในทิศทางไหนได้อย่างรวดเร็ว และนำเวลาที่จำกัดไปพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดหรือแก้ไขปัญหาได้โดยทันที


หากผู้อ่านท่านใดสนใจใช้ Mandala Analytics สามารถสมัครทดลองใช้ฟรี 7 วันได้ที่นี่



สามารถอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ blog/th/


Mandala Team

Creator

Share this post

Search the blog

Mandala Newsletter

Sign-up to receive the latest insights in to online trends